ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์  จับมือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนภูเก็ตสู่เมืองอัจฉริยะ ปั้น City Data Platform (CDP) เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลระดับเมือง ที่ภูเก็ตเป็นต้นแบบ และจังหวัดนำร่องของประเทศไทย  

 

      เมื่อวันที่ 26 ก.ย.62 ที่ผ่านมา  เวลา 13.00 น. ณ BAYACO (บ้านแอนด์บียอนด์ ชั้น 1)   นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน การสัมมนาเชิงปฎิบัติการ  “City Data Platform : capturing Data for Driving Smart City” และ แถลงข่าวเปิดตัว City Data Platform (CDP) โดยมี นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พัฒนาเมืองภูเก็ต จำกัด ,นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด, นายประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสาขาภาคใต้,พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8, นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต,นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, นายกฤษฏาพงษ์ ทองตัน ผู้จัดการโครงการ City Data Platform  และ นายธนภัทร์ ศิลากอง ผู้จัดการธุรกิจภาครัฐและภาคการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและแถลงข่าว

เมื่อข้อมูล (Big Data)เป็นสิ่งจำเป็น ในยุคปัจจุบันที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล โครงการ City Data Platform หรือ CDPจึงเกิดขึ้น จากความร่วมมือของ บ. ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จก. (CDA) บริษัทในเครือภูเก็ตพัฒนาเมือง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบในการรวบรวมข้อมูลระดับเมืองของจังหวัดภูเก็ต โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ แล้วนำไปใช้ในการวางแผน บริหารจัดการ และ แก้ไขปัญหาของเมือง 3 ด้าน คือ การท่องเที่ยว ,ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม,อสังหาริมทรัพย์ โดยมีเป้าหมายต่อไปคือ การเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆในจังหวัดภูเก็ตเข้าด้วยกัน เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดภูเก็ต และการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ สำหรับแพลตฟอร์มนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานทั่วไปได้ซึ่งเป็นข้อมูลเปิด (Open Data Platform) โดยจะเปิดให้บริการดูข้อมูลเพื่อทดลองใช้ ผ่านทางเว็บไซด์ www.phuket.cloud  ในช่วงเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป

               นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเพื่อรองรับการเติบโตที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับแนวคิดการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะSmart City ประกอบด้วย 7 ด้าน ได้แก่ Smart Economy, Smart Tourism, Smart Health, Smart Safety, Smart Environment, Smart Education และ Smart Governance ผ่านการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือ Internet of Things (IoT) ในการจัดการพัฒนาเมืองทุกด้าน บนพื้นฐานของการจัดทำ City Data Platform

“ดังนั้น โครงการบริการข้อมูลจังหวัดภูเก็ต หรือ (Phuket Smart City Data Platform: Services Layer) ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และบริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด ร่วมกันจัดทำขึ้น ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยพัฒนาและต่อยอดจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยการบูรณาการทางด้านข้อมูลระดับเมืองและเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และบริหารงานโครงการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสร้างโอกาสในการวิจัย การพัฒนาธุรกิจทางเลือก และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเชื่อมโยงข้อมูล ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติราชการและพัฒนาจังหวัดภูเก็ตต่อไป” นายภัคพงศ์ กล่าว

               นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ City Data Platform (CDP) เป็นต้นแบบแพลตฟอร์มข้อมูลระดับเมือง ที่ภูเก็ตเป็นต้นแบบ และจังหวัดนำร่อง ของประเทศไทย  ขณะนี้  ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์  ได้ทำการจัดทำระบบข้อมูลของเมือง ข้อมูลพื้นฐานในจังหวัดภูเก็ต และข้อมูลเชิงลึกในหลายพื้นที่แล้ว โดยเรามีข้อมูลเมืองภูเก็ตมากกว่า 60 ชั้นข้อมูล และแบ่งชั้นของการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.การเชื่อมต่อข้อมูล 2.การรวบรวมข้อมูล 3.การนำข้อมูลมาวิเคราะห์  โดยแพลตฟอร์ม City Data Platform (CDP) ที่ ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ ทำคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลของจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำข้อมูลมาแสดงผลและวิเคราะห์ ใน 3 ด้าน  ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดภูเก็ต โดยมี ด้านการท่องเที่ยว นำเสนอข้อมูลความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวทางบกและทางทะเล ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เพศ สัญชาติ อายุ ข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวในเส้นทางการท่องเที่ยว และปริมาณนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม นำเสนอข้อมูลปริมาณยานพาหนะที่เข้าออกผ่านจังหวัด ข้อมูลความหนาแน่นของยานพาหนะแต่ละตำแหน่งที่มีกล้องตรวจจับ ข้อมูลยานพาหนะที่ผ่านกล้องตรวจจับภาพป้ายทะเบียน ข้อมูลสภาพอากาศและน้ำ ด้านอสังหาริมทรัพย์ นำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนนักลงทุนนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการลงทุนและพัฒนา

“ ขณะนี้การเก็บรวบรวมข้อมูล ผ่านแพลตฟอร์ม City Data Platform (CDP) พร้อมที่จะขยายการเก็บข้อมูลไปยังส่วนอื่นๆ และจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่เดิม ซึ่งกระจัดกระจายในแต่ละภาคส่วนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น  เมื่อทุกภาคส่วนให้ร่วมมือ นำข้อมูลจากหลากหลายช่องทางและมีปริมาณมหาศาลมาแชร์ร่วมกัน ก็จะเป็นประโยชน์กับจังหวัดภูเก็ต ในการพัฒนาสู่ความเป็นสมาร์ทซิตี้ไปได้ไกลขึ้น”  นายธนูศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสาขาภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามนโยบายการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้เกิดข้อมูลจากการบริการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไป เช่น ข้อมูลจากการให้บริการ Free Wifi ข้อมูลจาก CCTV ข้อมูลจาก Sensors สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และประกอบกับการนำข้อมูลที่ได้ ซึ่งจัดเก็บจากหน่วยงานภาครัฐ มาใช้ประกอบในการบริหารจัดการเมือง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ปัจจุบันหลายเมืองทั่วโลกได้ก้าวเข้าสู่ การรวบรวมข้อมูลจากเมืองด้วยเทคโนโลยี ผ่านวิธีการต่างๆ การสร้างฐานข้อมูลใหญ่ หรือ Big Data การเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการนำข้อมูลไปใช้บริหารเมือง หรือที่เรียกว่า City Data Platform (CDP) ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปตามแนวทางและเกิดประโยชน์สูงสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยร่วมกับ บ. ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จก. (CDA) บริษัทในเครือภูเก็ตพัฒนาเมือง และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อสร้างต้นแบบของการพัฒนา City Data Platform (CDP) เป็นเมืองแรกของประเทศไทย

“ซึ่งขณะนี้การวิจัย ได้เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือการได้ต้นแบบของระบบที่พร้อมจะนำเข้าสู่การใช้งานจริงโดยจะเป็นการร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้งานระบบ และรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป มีการบริหารเมืองภายใต้การจัดการข้อมูลแบบใกล้เคียงความเป็นจริง จะทำให้เมืองสามารถจัดการบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สุดท้ายนี้สำนักงานจะดำเนินงานผลักดันเพื่องานวิจัย สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการใช้งานจริงต่อไป”